โรคลมพิษ ดูเหมือนไม่อันตราย แต่แฝงอาการเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคลมพิษ ดูเหมือนไม่อันตราย แต่แฝงอาการเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคลมพิษ ดูเหมือนไม่อันตราย แต่แฝงอาการเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์แพทย์สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคที่เราพบได้บ่อยที่สุด เกิดได้ทุกส่วนของร่างกายบนผิวหนัง ตัวกระตุ้นมักมาจากอาหาร  ยา  ฝุ่น  แมลง  การออกกำลังกาย  ความร้อนความเย็น  การติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่มีส่วนสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ลักษณะของโรคลมพิษคือผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นผื่นนูนแดงเป็นปื้นๆ คัน เมื่อยิ่งเกาจะยิ่งลามมากขึ้น อาจะมีอาการหน้าบวม ปากบวม ตาบวมร่วมด้วย มีอาการของผื่นลมพิษมักเป็นอาการแพ้แบบฉับพลัน เช่น หายใจไม่ออก หลอดลมตีบ ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจจะมีความดันตกและช็อคหมดสติได้ ถ้ามีอาการ 2 ใน 4 ระบบดังกล่าวคืออาการทางระบบผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร  ระบบหัวใจและหลอดเลือด ถือว่าเป็นอาการขั้นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดลมพิษนั้นแพทย์จะแบ่งอาการของลมพิษเป็น 2 แบบ คือ 1. ลมพิษแบบฉับพลัน 2. ลมพิษแบบไม่ฉับพลัน การแบ่งแบบนี้จะช่วยให้วินิจฉัยได้ชัดเจนว่าหากเดิมผู้ป่วยไม่เคยเป็นลมพิษเลย และไปรับประทานอาหารมาหลังจากนั้น 1 – 2 ชั่วโมง เกิดอาการผื่นลมพิษลามทั่วทั้งตัว กรณีนี้คือลมพิษแบบฉับพลัน จะซักอาการไปที่ภาวะแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้แมลง  แต่สำหรับลมพิษแบบไม่ฉับพลันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมากและในปัจจุบันพบผู้ป่วยประเภทนี้มากขึ้น เช่น เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ เชื้อโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนโควิด-19 หลังจากนั้น 1 เดือนเกิดอาการลมพิษโดยไม่มีปัจจัยสัมพันธ์กับอาหาร กลุ่มนี้เกิดจากการแพ้ภูมิคุ้มกันภายในร่างกายที่เปลี่ยนไป ผื่นลมพิษจึงเกิดขึ้นได้ทุกวันโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น  หรือเกิดจากเซลล์ในร่างกายที่ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความร้อนความเย็น

การซักประวัติผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคนไข้บางรายแสดงอาการไปสู่ขั้นรุนแรงและวิกฤตรวดเร็วมาก เช่น การโดนแมลงกัดหรือต่อย ข้อควรระวังคือการโดนแมลงกัดหรือต่อยซ้ำ เริ่มแรกอาจมีอาการผื่นขึ้น คัน ผิวหนังแดงทั้งตัว วูบ หมดสติ และช็อคได้ในเวลา 5 – 10 นาที ซึ่งกลไกของการแพ้ของร่างกายมนุษย์จะจดจำการแพ้ครั้งแรก เช่น เคยโดนผึ้งต่อย ร่างกายจะจำพิษจากเหล็กในของผึ้งและเมื่อโดนผึ้งต่อยอีกครั้งร่างกายจะสร้างสารแพ้ขึ้นและจะสร้างปริมาณมากขึ้นในครั้งต่อๆ ไป ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้มากขึ้น

การหลีกเลี่ยงอาการแพ้ให้พยายามจดจำสิ่งที่ตัวเองแพ้ กรณีแพ้อาหารให้หมั่นตรวจสอบส่วนประกอบของอาหาร อ่านฉลากของสินค้าทุกครั้ง หลีกเลี่ยงส่วนประกอบที่แพ้ให้ได้มากที่สุด ส่วนการรักษานั้นแพทย์จะใช้ยากดภูมิ และพยายามค้นหาสาเหตุของอาการแพ้ ซึ่งบางรายอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายจากโรค  เช่น  โรค SLE  โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี   โรคไทรอยด์  ฟันผุ  การติดเชื้อเรื้อรังต่างๆ



PRESS  RELEASE
หน่วยสื่อสารองค์กร  งานบริหารทรัพย์สิน  ฝ่ายบริหารทรัพย์สินและกิจการพิเศษ
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Panyananthaphikkhu Chonprathan Medical Center Srinakharinwirot University
222 หมู่ 1 ต.บางตลาด  อ.ปากเกร็ด  จ.นนทบุรี  11120  โทรศัพท์ 02 502-2345 ต่อ 3896