โรคหลอดเลือดสมอง รู้สัญญาณเตือน ช่วยชีวิตได้

โรคหลอดเลือดสมอง รู้สัญญาณเตือน ช่วยชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมอง รู้สัญญาณเตือน ช่วยชีวิตได้

แพทย์หญิงณัชวัลฐ์  ตันติธนารัตน์ อายุรแพทย์โรคระบบประสาท สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นอัมพาตและถึงขั้นเสียชีวิตได้  ดังนั้นผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรสังเกตุอาการของตนเองอยู่เสมอ รวมถึงบอกครอบครัวและเพื่อนร่วมงานให้ช่วยสังเกตุอาการ เพราะเพียงเสี้ยววินาทีหากรู้ทันจะสามารถช่วยชีวิตและลดความเสี่ยงการเป็นอัมพาตได้

โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองส่วนนั้นหยุดชะงัก จึงเกิดโรคอัมพาต         โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ 1. หลอดเลือดสมองตีบตัน จะแบ่งเป็นชนิดย่อย คือการตีบแคบของหลอดเลือดสมองจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัวและมีการเกาะของเกร็ดเลือดไขมัน เป็นมากขึ้นจนเลือดไหลไม่ได้ จึงเกิดโรคอัมพาต โดยสาเหตุดังกล่าวเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย และอีกชนิดคือการอุดตันของหลอดเลือดสมองจากก้อนเลือดที่หลุดจากหัวใจออกไป จึงเกิดโรคอัมพาต สาเหตุดังกล่าวเกิดได้จากโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะที่ไม่ได้รับการตรวจที่เหมาะสม หรือไม่ได้ทานยาละลายลิ่มเลือดป้องกัน  2. การแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดในสมอง โดยเกิดจากผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง เปราะบางและเกิดการฉีกขาดหรือแตกออกของผนังหลอดเลือดแดง จึงเกิดโรคอัมพาต โดยสาเหตุดังกล่าวเกิดจาก ปัจจัยเสี่ยงคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง  ส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะเป็นฉับพลันทันที เช่น เป็นขณะนั่งทำงาน ขณะทานอาหาร มีอาการอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีกทันที  มีภาวะหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท มุมปากตก แขนขาอ่อนแรงหรือชา ครึ่งซีกด้านใดด้านหนึ่งฉับพลัน การหยิบจับไม่ถนัด กำมือไม่แน่น พูดไม่ชัดพูดติดขัด นึกคำพูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจความมายของผู้ที่สื่อสารมา ทำตามสั่งไม่ได้ รวมถึงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้น โดยลดอาหารประเภทโซเดียมสูง เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง  ธัญพืช  ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการใช้ยาร่วมด้วยเวลาหลังเกิดอาการเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษา เพราะจากระยะเวลาที่มีอาการ ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาโดยได้รับยาสลายลิ่มเลือด จึงจะมีประโยชน์ในการลดอัตราการเกิดอัมพาตได้ หากมีอาการสามารถโทรศัพท์ที่หมายเลข 1669 ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง



PRESS  RELEASE
หน่วยสื่อสารองค์กร  งานบริหารทรัพย์สิน  ฝ่ายบริหารทรัพย์สินและกิจการพิเศษ
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Panyananthaphikkhu Chonprathan Medical Center Srinakharinwirot University
222 หมู่ 1 ต.บางตลาด  อ.ปากเกร็ด  จ.นนทบุรี  11120  โทรศัพท์ 02 502-2345 ต่อ 3896