ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน

ติดต่อ

+662 502 2345

ที่อยู่

222 Moo 1 Tiwanon Rd

นโยบายการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care)

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน จัดให้มีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง(palliative care) กำหนดให้บุคลากรทุกคนในโรงพยาบาล มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยรักษาอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ให้คำแนะนำผู้ป่วยและครอบครัวในการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากโรค และการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


คำจำกัดความของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care)
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความหมายของการดูแล ผู้ป่วยแบบประคับประคองคือ การดูแลที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยและครอบครัว ที่มีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต เพื่อป้องกันและลดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น โดยมีการระบุปัญหาสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่ม และประเมินทั้งด้านกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณอย่างครบถ้วน


เป้าหมายในการดูแลรักษา คือ ผู้ป่วยได้รับการดูแลเพื่อบรรเทาอาการทุกข์ทรมานและความเจ็บป่วยตามมาตรฐาน โดยดูแลร่วมกับการรักษาภาวะโรคหลัก จนถึงระยะที่ผู้ป่วยมีการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น ผู้ป่วยยังได้รับการดูแลต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการเตรียมตัว และสามารถปรับตัวรับมือกับความเจ็บป่วยที่เปลี่ยนแปลงได้และการสูญเสียได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี


คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

1. คณะกรรมการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง (PCMC Palliative care) โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ และคณะกรรมการดำเนินงานจิตอาสา

2. คณะทำงาน PCWN (Palliative Care Ward Nurse) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนพยาบาลแต่ละหน่วย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนางานการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง


การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคที่จำกัดชีวิต (Life limiting illness) คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคที่คุกคาม และคาดการณ์ว่าทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จากโรคนั้นหรือจำกัดอายุขัยของผู้ป่วย โรคเหล่านี้รวมกลุ่มโรคมะเร็งและโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง

แนวทางการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้แก่ ร่างกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย


ขอบเขตการให้บริการ (scope of service)

ประเมินผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การดูแลแบบประคับประคอง และนำเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วย แบบประคับประคองอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินปัญหาและวางแผนการดูแลร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว โดยเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

ให้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวม ทั้งการดูแลบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวด หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น รวมถึงการดูแลทางจิตใจ และการตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณและความเชื่อ โดยพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วย ได้แสดงความต้องการของตนเองในการดูแลรักษา และจัดทำเอกสารวางแผนดูแลล่วงหน้าของตนเอง (advance directives) เพื่อสื่อสารกับครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งสนับสนุนให้การดูแลเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย

ให้การสนับสนุนครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยวางเป้าหมายการดูแลร่วมกัน เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย และรับมือกับการสูญเสียได้ ตลอดจนติดตามประเมินภาวะโศกเศร้าจากการสูญเสียของครอบครัว และให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

มีทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย ได้แก่ แพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และจิตอาสา รวมถึงพระสงฆ์คิลานธรรม เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว โดยให้บริการที่หน่วยบริการผู้ป่วยนอก (คลินิกประสานใจ) และผู้ป่วยใน ซึ่งมีการพูดคุยกันเพื่อหาแนวทาง ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การติดตามดูแลอาการผู้ป่วยที่บ้านในพื้นที่บริการของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เพื่อให้แนะนำการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หากเป็นนอกพื้นที่บริการจะประสานส่งต่อข้อมูลไปยังเครือข่ายที่รับผิดชอบเพื่อการดูแลต่อเนื่อง

เวลาทำการ :
ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.

สถานที่ตั้ง :
ชั้น 4 ห้องตรวจเวชศาสตร์ฟื้นฟู อาคารผู้ป่วย 20 ชั้น ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน

เบอร์โทรศัพท์ :
02-502-2345 ต่อ 3256



Copyright© 2020 Panyananthaphikkhu Chonprathan Medical Center All right reserved.