ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน

ติดต่อ

+662 502 2345

ที่อยู่

222 Moo 1 Tiwanon Rd

แผนการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านแบบใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน

มาตรฐานคุณวุฒิความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (มคว.2) แพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พ.ศ.2565

ชื่อสาขา

  • ภาษาไทย : สาขาศัลยศาสตร์
  • ภาษาอังกฤษ : Surgery

ชื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ชื่อเต็ม
  • ภาษาไทย : วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์
  • ภาษาอังกฤษ : Diploma of the Thai Board of Surgery
ชื่อย่อ
  • ภาษาไทย : วว. สาขาศัลยศาสตร์
  • ภาษาอังกฤษ : Dip., Thai Board of Surgery

พันธกิจของแผนงานฝึกอบรม

เป็นแผนงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ที่มุ่งผลิตศัลยแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำหัตถการหรือการผ่าตัดตามมาตรฐานของ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ทั้งในด้านโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาที่พบบ่อย (common surgical problem) ภาวะฉุกเฉินทางด้านศัลยศาสตร์ที่สำคัญ (acute care surgery) และผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (trauma) โดยมีความรู้และทักษะอย่างดีทั้งในแง่การให้การวินิจฉัยโรค การส่งตรวจที่เหมาะสม การแปลผลตรวจวินิจฉัยต่างๆที่สำคัญ การวางแผนเลือกวิธีการรักษา การดูแลผู้ป่วยทั้งระยะก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดชนิดต่างๆ การดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต และการให้การกู้ชีพ อีกทั้งมีความรู้และมีประสบการณ์ในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอและมีความสามารถในการพิจารณานำมาใช้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล เพื่อพัฒนาให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความสามารถที่ครอบคลุมในประเด็นที่เกี่ยวข้องและประเด็นจำเพาะด้านการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์

แผนงานฝึกอบรมมีการบริหารจัดการการฝึกอบรมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นตามลำดับชั้นปี มีความสามารถในการปฏิบัติงานโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล อย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นผู้ที่มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการค้นคว้า การวิพากษ์และนำข้อมูลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์มาใช้อย่างเหมาะสม ตลอดจนมีความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเองไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพหรือนักวิชาการในอนาคตได้

แผนงานฝึกอบรมมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถในการทํางานตามหลักพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพ (professionalism) สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความเอื้ออาทรและคำนึงถึงความปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม มีความสามารถในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ มีการทำงานเป็นทีม มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นรวมทั้งต่อผู้ป่วยและญาติ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยของโรงพยาบาล สามารถมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนและความรับผิดชอบทางสังคมอื่นๆ ตามความเหมาะสม

แผนงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ สถาบันร่วมฝึกอบรมฯได้กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าโดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้และทักษะอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

วิสัยทัศน์ เป็นแผนงานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงระดับประเทศและมีมาตรฐานสากล

พันธกิจ

1. เป็นแผนงานฝึกอบรมที่ให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อสำเร็จเป็นศัลยแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งมีทักษะในการทำหัตถการทางศัลยศาสตร์ทั่วไป และศัลยศาสตร์เฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นด้านการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally invasive surgery)

2. เป็นแผนงานฝึกอบรมที่ให้การฝึกฝนและปลูกฝังให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถทำงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อเป็นประโยชน์ ต่อการสาธารณสุขของประเทศไทย

3. เป็นแผนงานฝึกอบรมที่มุ่งฝึกให้ศัลยแพทย์มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์ วางแผนและทำงานเป็นทีมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีความเข้าใจในระบบสาธารณสุขของเขตสุขภาพและของประเทศได้

ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม

แผนงานฝึกอบรมมุ่งเน้นให้แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติ และความสามารถขั้นพื้นฐานตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้าน ดังนี้

5.1 การดูแลรักษาผู้ป่วย (patient care)

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องมีผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ ทักษะหัตถการ และเจตคติ ในบริบทของสาขาวิชาศัลยศาสตร์อย่างครบถ้วนจนสามารถให้การบริบาลผู้ป่วย (patient care) ได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม คํานึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานทางด้านศัลยศาสตร์ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล


5.2 ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (medical Knowledge and procedural skills) สามารถทำเวชปฏิบัติได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของสาขาศัลยศาสตร์

5.2.1 ด้านความรู้ (medical knowledge)

  • 1. มีความรู้เกี่ยวกับโรค การวินิจฉัยและการส่งตรวจ แนวทางการรักษา วิธีการผ่าตัด ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ทั้งกลุ่มโรคที่พบบ่อย (common surgical problem), ภาวะฉุกเฉินทางด้านศัลยศาสตร์ที่สำคัญ (acute care surgery) และผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (trauma) เป็นอย่างดี
  • 2. มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยระยะก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดชนิดต่างๆอย่างเหมาะสม
  • 3. มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตทางศัลยศาสตร์และการให้การกู้ชีพอย่างเหมาะสม
  • 4. มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์อย่างเหมาะสม
  • 5. มีความรู้ที่ครอบคลุมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและประเด็นที่มีความจำเพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์อย่างเหมาะสม
  • 6. มีความรู้และมีประสบการณ์ในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งรู้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอและมีความสามารถในการพิจารณานำมาใช้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล

5.2.2 ด้านทักษะหัตถการ ( procedural skills )

  • 1. มีทักษะและประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค การพิจารณาเลือกการส่งตรวจ การอ่านผลและแปลผลตรวจ การเลือกแนวทางการรักษา การเลือกวิธีการผ่าตัด ในกลุ่มโรคทางศัลยศาสตร์ที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ทั้งกลุ่มโรคที่พบบ่อย (common surgical problem), ภาวะฉุกเฉินทางด้านศัลยศาสตร์ที่สำคัญ (acute care surgery) และผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (trauma) เป็นอย่างดี
  • 2. มีทักษะและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดชนิดต่างๆ อย่างเหมาะสม
  • 3. มีทักษะและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตทางศัลยศาสตร์ และทักษะในการกู้ชีพอย่างเหมาะสม
  • 4. มีทักษะและประสบการณ์ในการทำหัตถการพื้นฐานทางศัลยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยอย่างดี
  • 5. มีทักษะและประสบการณ์ในการทำหัตถการการผ่าตัด และการช่วยผ่าตัดที่สำคัญและที่จำเป็นอย่างดีและครบถ้วน

5.3 ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal and communication skills)

5.3.1 นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย บันทึกรายงานทางการแพทย์ และอภิปรายปัญหาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ

5.3.2 ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม

5.3.3 สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีความเมตตา เคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย

5.3.4 มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ


5.4 การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (practice - based learning and improvement) โดยสามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้

5.4.1 เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานดูแลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งด้านการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การพิจารณาส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัย การรักษาและการให้คำแนะนำผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถสื่อสารกับพยาบาลและทีมผู้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม

5.4.2 เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานในด้านทักษะการทำหัตการและการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสมตามระดับชั้นปีที่สูงขึ้น

5.4.3 เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถเข้าใจระบบการทำงานภายในโรงพยาบาล การบริหารจัดการ และการทำงานร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆได้อย่างเหมาะสม


5.5 ความสามารถในการทํางานตามหลักวิชาชีพนิยม (professionalism) รวมทั้งคุณลักษณะของความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (continue medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (continue professional development)

5.5.1 มีพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพที่ดี สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความเอื้ออาทรและคำนึงถึงความปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม

5.5.2 มีพฤตินิสัยและมารยาททางวิชาชีพที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นรวมทั้งต่อผู้ป่วย ญาติและชุมชน

5.5.3 มีความสามารถในการสืบค้นและวิพากษ์ข้อมูลเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ และนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม

5.5.4 มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการวิจัยทางการแพทย์และสามารถทำวิจัยทางการแพทย์เพื่อ สร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเองไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพหรือนักวิชาการในอนาคตได้ สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (continue medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (continue professional development)


5.6 การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (systems- based practice) มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ ระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยรวมทั้งการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม

5.6.1 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ

5.6.2 มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยของโรงพยาบาล รวมทั้งระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย

5.6.3 มีความรู้ด้านการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม รู้ข้อจำกัดในระบบการดูแลผู้ป่วยและสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

5.6.4 มีความรู้ความเข้าใจในด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนและความรับผิดชอบทางสังคมอื่นๆ ตามความเหมาะสม

การรับและการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม

หลักสูตรศัลยศาสตร์มีการกำหนดกระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่โปร่งใสยุติธรรมสามารถตรวจสอบได้ โดยจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นไปตามที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ประเมินศักยภาพ

  • 6.1 คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

    • ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองและได้รับการขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
    • เป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
    • เป็นผู้ที่ผ่านการปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา ๑ ปี และได้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามจำนวนปีที่แพทยสภากำหนดไว้
    • เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี
    • มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน (อยู่ในดุลยพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านในแต่ละปี) โดยอิงตามที่ระบุไว้ในประกาศกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ แห่งประเทศไทย คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัครเข้าศึกษา หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ฉบับ พ.ศ.2559
    • ไม่อยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีทางอาญา
    • มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การรับสมัครแพทย์ประจำบ้าน
  • 6.2 การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
  • 6.2.1 คณะกรรมการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
  • สถาบันร่วมฝึกอบรมฯมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านหลักสูตรศัลยศาสตร์ (ผนวกที่ 20) โดยมีประธานหลักสูตรเป็นประธานและมีกรรมการคัดเลือกเป็นอาจารย์ในแต่ละหน่วยของหลักสูตรศัลยศาสตร์ โดยคณะกรรมการจะต้องอยู่ตั้งแต่เริ่มจนถึงการพิจารณาตัดสินแล้วเสร็จ

  • 6.2.2 เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
  • คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านใช้เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมของสถาบันร่วมฝึกอบรมฯโดยใช้ระบบการให้คะแนนการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ สถาบันฝึกอบรมฯจะแจ้งเกณฑ์ดังกล่าวให้ทราบโดยทั่วกันพร้อมกับการประกาศรับสมัครเพื่อคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละปี ทั้งนี้ การให้คะแนนจะพิจารณาจาก 3 ส่วน (ผนวกที่ 21) ได้แก่

  • ก) คะแนนรวมจากข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่
    • (1) ผลการศึกษารวมในระดับแพทยศาสตรบัณฑิต
    • (2) ผลการศึกษารวมในรายวิชาศัลยศาสตร์
    • (3) จำนวนปีที่จบการศึกษา
    • (4) ต้นสังกัดหน่วยงานรัฐบาลและความขาดแคลนศัลยแพทย์ของพื้นที่
    • (5) จดหมายแนะนำตัว
    • (6) มีประสบการณ์การทำงานในสาขาวิชาศัลยศาสตร์ขณะเป็นแพทย์ใช้ทุน
  • ข) คะแนนรวมจากการสอบสัมภาษณ์ มีเกณฑ์การให้คะแนนตามคุณลักษณะของผู้เข้ารับการคัดเลือก เช่น บุคลิกภาพ ท่าทาง การแต่งกาย ปฏิภาณไหวพริบ ทัศนคติ เป็นต้น
  • ค) คะแนนจากการสอบข้อเขียน

  • 6.2.3 การประกาศจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ได้รับการคัดเลือก
  • คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านจะประกาศจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ศักยภาพที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยในแต่ละปีคณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ สถาบันร่วมฝึกอบรมฯ จะมีการประเมินศักยภาพของสถาบันในการกำหนดอัตราการรับแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งจะคำนึงถึงความต้องการทางสาธารณสุขในขณะนั้นด้วย คณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านจะแจ้งจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่จะรับเข้าฝึกอบรมต่อผู้สมัครก่อนสมัครเสมอ

  • 6.2.4 การขอตรวจสอบผลการคัดเลือกเข้า/การอุทรณ์ผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
  • หลังการประกาศผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกสามารถร้องขอต่อคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน เพื่อขอตรวจสอบคะแนนการคัดเลือกได้ หลังจากการคัดเลือกแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ โดยจะเปิดเผยเฉพาะคะแนนของผู้ที่ร้องขอเท่านั้น

Copyright© 2020 Panyananthaphikkhu Chonprathan Medical Center All right reserved.